แก่นตะวัน อาจเรียกว่า แห้วบัวตอง (Jerusalem Artichoke หรือ Sunchoke) เป็นพืชหัว (tuber crop) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Helianthus tuberosus
มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาเหนือ และได้มีการนำมาปลูกในแถบทวีปยุโรปอย่างแพร่หลาย ในเขตหนาว เขตกึ่งหนาว และเขตร้อน เช่น ในประเทศอินเดีย
และมีการนำมาปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย หัวแก่นตะวันใช้บริโภค เป็นอาหาร มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ อุดมด้วยเส้นใยอาหาร (dietary fiber)
ที่ประกอบด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ได้แก่ อินูลิน (Inulin) และโอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharde) คือ oligofructose ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (prebiotic)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก่นตะวันเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับทานตะวันลำต้นมีความสูงประมาณ 1.5 - 2.0 เมตร มีขนคล้ายหนามกระจายทั่วลำต้นและใบ มีดอกสีเหลืองคล้ายดอกบัวตอง
แต่มีขนาดเล็กกว่า มีหัว (tuber) รูปร่างคล้ายขิงเปลือกหัวเป็นผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว และกรอบคล้ายแห้วดิบ มีรสหวานเล็กน้อย อายุการเก็บเกี่ยวหัว ประมาณ 110-120 วัน
สรรพคุณต่อสุขภาพ
แก่นตะวันเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพ (functional food) เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ซึ่งส่วนใหญ่ในหัวแก่นตะวันพบมากในรูป อินูลิน (inulin)
16-39 เปอร์เซ็นต์ อินูลินเป็นพอลิเมอร์ของน้ำตาลฟรักโทส (fructose) เชื่อมต่อกันด้วยพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic bond) ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในกระเพาะ
อาหารและลำไส้เล็ก จึงไม่ให้พลังงาน แต่จะอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว จึงกินอาหารได้น้อยลง แต่สารอาหารเหล่านี้สามารถถูกย่อยได้ด้วย
จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ใหญ่ จึงมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก (prebiotic) ช่วยดูดซับสารพิษในลำไส้ใหญ่ และควบคุมการขับถ่ายให้เป็นปกติ สร้างภูมิคุ้มกันโรค
การเสริมสารสกัดแก่นตะวัน นำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ เช่น สุกร สุนัข ช่วยลดปริมาณแอมโมเนียในระบบทางเดินอาหารและในสิ่งขับถ่ายได้ ทำให้ลดปริมาณ
สารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในสิ่งขับถ่ายนอกจากนี้หัวแก่นตะวันยังมีวิตามินบี (Vitamin B) เหล็ก และแคลเซียมสูง
การเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์
แก่นตะวัน หัวของแก่นตะวัน หลังการเก็บเกี่ยว มีดินทรายติดมามาก ต้องนำหัวมาทำความสะอาดด้วยการล้าง (washing) หัวแก่นตะวันที่สะอาดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็น(cold storage) ได้ประมาณ 6-8 เดือน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ เนื้อในหัว นำหัวมาปอกเปลือก (peeling) เอาผิวสีน้ำตาลออกใช้บริโภคเป็นผักสด หรือนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด มีศักยภาพสูงที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบ
เพื่อแปรรูปและใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมสุขภาพ เหมาะเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและอาหารสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก เพราะไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย
ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/4041/jerusalem-artichoke-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99